เปิดมุมมอง ‘แสนผิน สุขี' แนวราบ ทางรอดอสังหาฯ?

เปิดมุมมอง ‘แสนผิน สุขี' แนวราบ ทางรอดอสังหาฯ?

หากดูจากตัวเลขจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตลาดอสังหาฯ ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ผ่านมา โดยสัดส่วนคอนโดเหลือแค่ 37% จาก 59% ในปี 2561 ขณะที่แนวราบ กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 63% จาก 41%สะท้อนว่า‘ แนวราบ ’กลายเป็น ทางรอดที่ดีเวลลอปเปอร์ เลือก
แสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่าอุปทานเปิดตัวใหม่ ของที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2563 มีจำนวน 72,752 ยูนิต ลดลงจาก 118,037 ยูนิต 38% คอนโด เปิด 25,906 ยูนิต จาก 66,367 ยูนิต ลดลง 61% เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาทำโครงการแนวราบและชะลอการเปิดตัวโครงการคอนโด ขณะที่ซัพพลายบ้านแฝดเพิ่มขึ้น17% จาก 6,599 ยูนิต เป็น7,701 ยูนิต เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์กำลังซื้อผู้บริโภคในยุคนี้ เพราะมีลักษณะเหมือนบ้านเดี่ยวแต่ราคาถูกกว่า โดยอยู่ประมาณ 5-7 ล้านบาท ทาวน์โฮม 29,100 ยูนิตและบ้านเดี่ยว 10,045 ยูนิต


ขณะที่อุปสงค์ที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2563 มีจำนวน 64,536 ยูนิต ติดลบ 35% คอนโดติดลบ 47% เหลือ 28,947 ยูนิต ทาว์โฮมมีจำนวน 20,557 ยูนิต ติดลบ28% ส่วนบ้านแฝด และบ้านเดี่ยวจะติดลบน้อย สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า คนที่มีรายได้ระดับกลางล่างได้รับผลกระทบจากภาวะโควิด -19 ค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทอสังหาฯ หลายค่ายปรับตัวมาทำบ้านเดี่ยวมากขึ้น

“ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ผู้ประกอบการขายยากเพราะคนซื้อตัดสินซื้อยากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบในแง่รายได้ลดลงและการแข่งขันรุนแรงขึ้น ไม่นับรวมยอดการปฏิเสธสินเชื่อแค่ขายนี้ก็เหนื่อยแล้วสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ”

แสนผิน กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาตัวเลขการยอดการปฏิเสธสินเชื่อภาพรวมสูงถึง 51% ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อมากที่สุดคือทาวน์โฮมสูงถึง 54% เหมือนกับขายครึ่งทิ้งครึ่ง แม้แต่บ้านแฝดก็มากเช่นกันคือ 42% ขณะที่บ้านเดี่ยวน้อยกว่า อยู่ที่ 37% เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีเงินออม ขณะที่ตลาดต่างจังหวัดตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อ 48% ใกล้เคียงกับบ้านแฝด ซึ่งแตกต่างสมัยแรกที่เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม ไปทำตลาดต่างจังหวัดที่ยอดการปฏิเสธสินเชื่อน้อย เพราะลูกค้าต่างจังหวัดยุคนั้นมีเงินออม ฉะนั้นผู้ประกอบการที่ไปต่างจังหวัดจึงไม่ควรลงทุนซื้อพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำโครงการแบบไร่เลื่อนลอย แต่ควรทำโครงการเฉพาะพื้นที่มีศักยภาพแล้วขายหมดไปจะช่วยลดความเสี่ยง

“ปีนี้ตลาดบ้านเดี่ยวยังคงไปต่อได้แค่ต้องดูทำเลดีๆ เพราะกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อ แต่ขณะเดียวกันต้องมีการออกแบบให้รับกับวิถีชีวิตในยุคนิวนอร์มอล ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยที่ดี และรองรับกลุ่มผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เครื่องมือดิจิทัล”

ขณะเดียวกันบ้านแฝดถือเป็นเทรนด์ที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่อยากได้บ้านเดี่ยวแต่งบและกำลังซื้อจำกัด ซึ่งถือเป็นสินค้าเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเป็นสินค้าทดแทนตอบโจทย์ลูกค้าในยุคนี้ ส่วนตลาดทาว์โฮมแม้ว่าดูน่ากลัวแต่ยังไปได้เพียงแต่ ผู้ประกอบการต้องดูเรื่องทำเลเลือกทำเลที่เป็นบลูโอเชียนอย่าไปทำเลเรดโอเชียน และควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและฟังก์ชันในโครงการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค

“ยิ่งตลาดมีการแข่งขันมาก ลูกค้าจะได้ประโยชน์ทั้งเรื่องราคาและโปรโมชั่น ประกอบกับธนาคารมีนวัตกรรมการเงินใหม่ๆออกมาเรื่อยๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเองมากขึ้น รวมทั้งการที่รัฐออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆออกมามีส่วนช่วยให้คนกล้าตัดสินใจซื้อ” แสนผินกล่าว